พระราชกรณียกิจของพ่อหลวง ที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี - Funchee By Thishop

Post Top Ad

พระราชกรณียกิจของพ่อหลวง ที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

พระราชกรณียกิจของพ่อหลวง ที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

Share This
พระราชกรณียกิจของพ่อหลวง ที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

1.โครงการฝนหลวง

โครงการฝนหลวง
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกรทรงพบเห็นว่าหลายแห่งประสบปัญหา พื้นดินแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูเพาะปลูก เกษตรกรมักประสบความเดือดร้อนจากภาวะฝนแล้ง ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล และทรงความอัจฉริยะของพระองค์ด้วยคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ ทรงสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้น และได้มีพระราชดำริครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2498 แก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ว่าจะทรงค้นหา วิธีการที่จะทำให้เกิดฝนตกนอกเหนือจากที่จะได้รับจากธรรมชาติโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ กับทรัพยากร ที่มีอยู่ให้เกิดมีศักยภาพของการเป็นฝนให้ได้ "ฝนหลวง" หรือ "ฝนเทียม"

พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงวิเคราะห์การทำฝนหลวงว่ามี 3 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน เป็นการกระตุ้นให้เมฆรวมตัวเป็นกลุ่มแกน เพื่อใช้เป็น แกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝนในระยะต่อมา สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ แคลเซียมคลอไรด์ แคลเซียมคาร์ไบด์ แคลเซียมออกไซด์ หรือสารผสมระหว่าง เกลือแกงกับสารยูเรีย หรือสารผสม

ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน ขั้นตอนนี้ใช้สารเคมี คือ เกลือแกง สารประกอบสูตร ท.1 สารยูเรีย สารแอมโมเนียไนเตรท น้ำแข็งแห้ง และอาจใช้สารแคลเซียมคลอไรด์ร่วมด้วยเพื่อเป็นการเพิ่มแกนเม็ดไอน้ำ (Nuclii) ให้กลุ่มเมฆฝน มีความหนาแน่นมากขึ้น

ขั้นตอนที่ 3 โจมตี สารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนนี้เป็นสารเย็นจัด คือซิลเวอร์ไอโอได น้ำแข็งแห้ง เพื่อทำให้เกิดภาวะความไม่สมดุลมากที่สุด ซึ่งจะเกิดเป็นเม็ดน้ำ ที่มีขนาดใหญ่มาก และตกกลายเป็นฝนในที่สุด อย่างไรก็ดี ทุกขั้นตอนจะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการตัดสินใจที่จะเลือกใช้สารเคมีในปริมาณที่พอเหมาะ


2.กังหันน้ำชัยพัฒนา

กังหันชัยพัฒนา
        เครื่องกลเติมอากาศที่เป็นกังหันน้ำแบบทุ่นลอยซึ่งใช้ในการบำบัดน้ำเสีย โดยใช้กังหันวิดน้ำไปบนผิวน้ำแล้วปล่อยให้ตกลงผิวน้ำตามเดิม และน้ำจะถูกสาดกระจายสัมผัสอากาศทำให้ออกซิเจนละลายในน้ำ น้ำเสียจึงมีคุณภาพดีขึ้น สามารถนำไปใช้บำบัดน้ำเสียทั้งจากแหล่งชุมชน อุตสาหกรรมและการเกษตร

ทั้งนี้ การเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำจะช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการทางชีวภาพที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและใช้ค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียน้อย และแหล่งน้ำเสียที่กระจายไปตามแหล่งต่าง ๆ จึงทำให้ยากแก่การรวบรวมน้ำเสียเพื่อนำไปบำบัดในโรงบำบัดน้ำเสีย และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

ตามทฤษฎีเครื่องกลเติมอากาศ นับว่าการเติมอากาศหรือออกซิเจนเป็นหัวใจของระบบบำบัดน้ำเสีย เพราะถ้ามีออกซิเจนอยู่มากจุลินทรีย์ก็สามารถบำบัดน้ำได้ดีและบำบัดน้ำเสียได้มากขึ้น แต่ที่ความดันบรรยากาศซึ่งเป็นความดันที่ค่อนข้างต่ำสำหรับออกซิเจนในการละลายน้ำ จึงต้องมีการเพิ่มพื้นที่สัมผัสระหว่างอากาศกับน้ำให้ได้มากที่สุด


หลักการและวิธีการทำงานของกังหันน้ำชัยพัฒนา

กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นเครื่องกลเติมอากาศแบบทุ่นลอย สามารถปรับตัวขึ้นลงได้ ตามระดับขึ้นลงของผิวน้ำ ในแหล่งน้ำเสีย มีส่วนประกอบสำคัญคือ
1. โครงกังหันน้ำรูป 12 เหลี่ยม
2. ซองบรรจุน้ำติดตั้งโดยรอบ จำนวน 6 ซอง รูซองน้ำพรุนเพื่อให้น้ำไหลกระจายเป็นฝอย
3. ซองน้ำจะถูกขับเคลื่อนให้หมุนโดยรอบด้วยเกียร์มอเตอร์ ซึ่งทำให้การหมุนเคลื่อนที่ของซองน้ำ วิดตักน้ำด้วย ความเร็ว สามารถวิดน้ำลึกลงไปจากใต้ผิวน้ำประมาณ 0.50 เมตร ยกน้ำสาดขึ้นไปกระจายเป็นฝอยเหนือผิวน้ำ ได้สูงถึง 1 เมตร ทำให้มีพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างน้ำกับอากาศมากและส่งผลให้ออกซิเจนสามารถละลายเข้าไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว
4. ในขณะที่น้ำเสียถูกยกขึ้นไปสาดกระจายสัมผัสกับอากาศแล้วตกลงไปยังผิวน้ำนั้น จะก่อให้เกิดฟองอากาศ จมตามลงไปใต้ผิวน้ำด้วย ในขณะที่ซองน้ำกำลังเคลื่อนที่ลงสู่ผิวน้ำแล้วกดลงไปใต้ผิวน้ำนั้น จะเกิดการอัดอากาศภายในซองน้ำ ภายใต้ผิวน้ำ จนกระทั่งซองน้ำจมน้ำเต็มที่ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงขึ้น หลังจากนั้นน้ำที่ได้รับการเติมอากาศแล้วจะเกิดการถ่ายเทของน้ำเคลื่อนที่ออกไปด้วยการผลักดันของซองน้ำ

3. เขื่อนดิน อ่างเก็บน้ำที่ไม่ใช้คอนกรีต

อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่
         เขื่อนดินเป็นแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินตามแนวพระราชดำริ ตัวเขื่อนนิยมก่อสร้างด้วยการถมดินและบดอัดจนแน่น สามารถส่งน้ำไปตามท่อส่งน้ำได้ เพื่อใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างปลาและกุ้งน้ำจืดได้ นอกจากนี้เขื่อนดินยังเป็นปราการที่ไม่เพียงบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำหากแต่ยังป้องกันน้ำท่วมได้อีกด้วย ส่วนความจุของปริมาณขึ้นอยู่กับความสูงของเขื่อน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งก็จะทรงปล่อยลูกปลา ลูกกุ้งเพื่อพระราชทานแก่ราษฎรในบริเวณนั้นให้มีแหล่งอาหารสำหรับบริโภค ทั้งนี้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลักษณะดังกล่าวทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก อาทิ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำห้วยซับตะเคียน จ.ลพบุรี อ่างเก็บน้ำคลองหลา จ.สงขลา รวมทั้งเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ใน จ.ลพบุรี และ จ.สระบุรี ซึ่งเก็บน้ำได้มากถึง 960 ล้านลูกบาศก์เมตร


4.ไบโอดีเซล จากปาล์มประกอบอาหารสู่เชื้อเพลิงเครื่องยนต์
โครงการไบโอดีเซล
         สายพระเนตรอันยาวไกลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนผ่านโครงการส่วนพระองค์มาตั้งแต่ปี 2522 โดยมีโครงการผลิตแก๊สชีวภาพ เอทานอล แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลจากปาล์ม ซึ่งในส่วนของพระราชดำริด้านการพัฒนาน้ำมันปาล์มเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลนั้น การพัฒนาไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มในชื่อ “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล” ได้จดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2544

อีกทั้งในปี 2546 ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลจาก “โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม” ในงาน “บรัสเซลส์ ยูเรกา” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ทั้งนี้ปาล์มเป็นพืชที่ให้ปริมาณน้ำมันต่อพื้นที่ปลูกสูง อีกทั้งเกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ภายในประเทศ ซึ่งจะใช้ทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้



5.แหลมผักเบี้ย-หนองหาร โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม
โครงการแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี
        สิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัญหาที่ได้รับการแก้ไขด้วยโครงการพระราชดำริ โดยส่วนของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยเป็นโครงการตาม แนวพระราชดำริในการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะมูลฝอย และรักษาสภาพป่าชายเลน ทั้งนี้ แบ่งการบำบัดเป็น 2 ส่วนคือระบบบำบัดหลักและระบบบำบัดรอง สำหรับระบบบำบัดหลักนั้น ซึ่งมีบ่อสำหรับตกตะกอนและปรับสภาพน้ำเสียจำนวน 5 บ่อ โดยส่งน้ำเสียผ่านท่อไปยังบ่อบำบัดและในบ่อสุดท้ายจะมีคณะวิจัยตรวจสอบ คุณภาพน้ำก่อนส่งต่อ

ส่วนระบบบำบัดรองนั้นอาศัยการบำบัดโดยธรรมชาติ ประกอบด้วย
1.ระบบบึงชีวภาพ ซึ่งจะปลูกพืชที่สามารถเจริญได้ดีในน้ำขังเสีย ดูดซับสารพิษและสารอินทรีย์ได้ เช่น กก อ้อ เป็นต้น
2.ระบบกรองน้ำเสียด้วยหญ้า เช่น หญ้าเนเปีย หญ้าแฝก หญ้านวลน้อย หญ้ารูซี่ เป็นต้น โดยจะส่งน้ำเสียไปขังในแปลงหญ้าเป็นระยะ ๆ
3.ระบบกรองด้วยป่าชายเลน โดยในพื้นที่ป่าชายเลนจะปลูกโกงกาง แสมขาว เป็นต้น เพื่อให้มีสภาพใกล้เคียงธรรมชาติ น้ำที่ผ่านป่าชายเลนก็จะได้การบำบัดตามธรรมชาติ

6.โครงการแกล้งดิน


        โครงการแกล้งดินจะเร่งกำมะถันทำปฏิกิริยาทำการไล่หน้าดินเปรี้ยว จาก ปัญหาดินเปรี้ยวในบริเวณป่าพรุที่ถูกน้ำท่วมในจังหวัดนราธิวาส เนื่องจากมีสารประกอบไพไรท์ซึ่งมีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้ทดลอง “แกล้งดิน” ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนแล้วปลดปล่อยกำมะถันออกมา ทำให้ดินเปรี้ยวจัดจากนั้นปรับปรุงดินด้วยการใช้น้ำร่วมกับปูนมาร์ลหรือปูน ฝุ่นแล้วไถพลิกกลบดิน ความเป็นเบสของปูนจะทำให้ดินซึ่งเปรี้ยวจัดถูกกระตุ้นให้ “ช็อก” จึงปรับสภาพสู่สภาวะปกติ จนกระทั่งเพาะปลูกข้าวได้

การปรับพื้นที่และยกร่องก็เป็นวิธีระบายกรดบนหน้าดินอีกทางหนึ่ง ส่วนจะปลูกพืชชนิดใดนั้นต้องปรับพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น หากจะปลูกข้าวต้องปรับดินให้ลาดเอียงเพื่อให้น้ำไหลออก หากจะปลูกผักหรือพืชไร่อื่นให้ยกร่องและทำคูเพื่อป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ยังต้องใส่ปูนขาวเพื่อปรับให้ดินเป็นกลาง หรืออาจจะใช้น้ำจืดชะล้างก็ได้แต่ใช้เวลานาน

7.โครงการแก้มลิง

ทุ่งทะเลหลวง จ.สุโขทัย
           "โครงการแก้มลิง" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยโครงการนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาไม่ให้น้ำที่มีระดับสูงในฤดูน้ำหลาก ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เพาะปลูกจนชาวบ้านได้รับความเสียหาย ออกจากพื้นที่ราบลุ่ม หรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นประจำ โครงการแก้มลิง มีแนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมากๆ พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสอธิบายว่า “ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือ เต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง” ทรงเปรียบเทียบการกินอาหารของลิงกับการกักเก็บน้ำ คือ การจัดให้มีสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นบึงพักน้ำให้หน้าน้ำ โดยรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว ก่อนที่จะระบายลงทางระบายน้ำสาธารณะ ดังนั้นเมื่อฝนตก น้ำฝนจึงไม่ไหลลงสู่ทางระบายน้ำในทันที แต่จะขังไว้ในพื้นที่พักน้ำ รอเวลาให้คลองต่างๆ ซึ่งเป็นทางระบายน้ำหลักพร่องน้ำพอจะรับน้ำได้ จึงค่อยๆ ระบายน้ำลง นับเป็นการช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังได้ในระดับหนึ่ง
"โครงการแก้มลิง" มีลักษณะและวิธีการดังนี้
1. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล
2. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลอง ดังกล่าว โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ
3. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ “แก้มลิง” นี้ เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
4. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)


8.โครงการหญ้าแฝก

พระองค์เสด็จเยี่ยมพสกนิกร ละ เยี่ยมชมโครงการหญ้าแฝก

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของดินที่เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนี่งของประเทศ มีผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน จึงพระราชทานพระราชดำริให้มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขี้น เนื่องจากหญ้าแฝกเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย มีรากที่ยาว แผ่กระจายลงไปในดินตรง ๆ เป็นแผง และง่ายต่อการรักษา


การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
1.การปลูกเป็นแถวตามระดับขวางความลาดชัน เพื่อชะลอความเร็วของน้ำ และดักตะกอนดิน ส่วนน้ำจะไหลซึมลงไปสู่ดินชั้นล่างได้มากขึ้น เป็นการเพิ่ม
ความชุ่มชื้นในดิน ส่วนรากหญ้าแฝกจะหยั่งลึกลงไปในดินอาจถึง 3 เมตร ซึ่งสามารถยึดดินป้องกันการพังทลายได้
2.การปลูกเพื่อแก้ปัญหาการพังทลายของดินเป็นร่องน้ำลึก
3.การปลูกในพื้นที่ที่มีความลาดชัน โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้ ให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวรั้วบริเวณคันคูขอบเขา หรือริมขั้นบันไดดินด้านนอก โดยควรปลูกเป็นแถวตามแนวขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน
4.การปลูกเพื่อการอนุรักษ์ความชุ่มชื้นในดิน โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผล ปลูกแบบวงกลมรอบไม้ผล และปลูกแบบครึ่งวงกลมหงายรับน้ำฝน
5.การปลูกเพื่อป้องกันการเสียหายของขั้นบันไดดินหรือคันคูรับน้ำรอบเขา
6.การปลูกเพื่อป้องกันตะกอนดินทับถมลงสู่คลองส่งน้ำ ระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำในไร่นาตลอดจนปลูกรอบสระ หรือปลูกเป็นแถวขนานไปกับแม่น้ำ ลำคลองเพื่อกรองตะกอนดิน
7.การปลูกเพื่อฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม
8.การปลูกเพื่อป้องกันการพังทลายของไหล่ถนนที่ลาดชันสูง โดยปลูกหญ้าแฝกเพื่อยึดดินและเบี่ยงเบนทางน้ำไหลบริเวณไหล่ทาง และปลูกขวางแนวลาดเท
เพื่อป้องกันการพังทลายและเลื่อนไหลของดิน
9.การปลูกในพื้นที่ดินดาน รากหญ้าแฝกสามารถหยั่งลึกลงไปในดินดาน ทำให้ดินแตกร่วนขึ้น และหน้าดินจะมีความชื้นเพิ่มขึ้น
10.การปลูกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำ รากหญ้าแฝกจะเป็นกำแพงกักกั้นดินและสารพิษที่ปะปนมากับน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำเบื้องล่างและรากยังมีประสิทธิภาพในการดูดซับธาตุโลหะหนักและสารเคมีบางอย่างได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น

ดังคำกล่าวที่ว่า ป่าและต้นน้ำคือชีวิต โครงการหญ้าแฝกตามพระราชดำริเป็นทฤษฎีการป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดินและคืนธรรมชาติสู่แผ่นดิน เป็นการสร้างความสมดุลให้กับป่าไม้ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธาร ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศน์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยที่กำลังถูกทำลายไปอย่างรวดเร็วทั้งนี้เพื่อความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขของประชาชนอย่างแท้จริง

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : king.kapook

สำหรับบทความนี้ เป็นบทความที่แนะนำพระราชกรณียกิจของพ่อหลวงของเราทุกคน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ 

ThaiPaymall

ไม่มีความคิดเห็น:

Post Bottom Ad

Pages