พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของ การศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะทรงถือว่า “การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาชีวิตมนุษย์” ดังจะเห็นได้จากพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียน ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ และเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ รวมทั้งที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙
พระบรมราโชวาทที่อัญเชิญมานี้แสดงให้เห็นถึงพระราชดำริที่เล็งเห็นความสำคัญของ การศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราชดำริให้เห็นว่าประเทศชาติจะพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้ ก็ด้วยการพัฒนาบุคคลของชาติให้มีคุณภาพโดยการให้การศึกษา
การศึกษาในระบบโรงเรียน
พระราชกรณียกิจใน ส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้น เริ่มจากใน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ร่วมเรียนด้วย และเมื่อพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรและหน่วยปฏิบัติการทหาร ตำรวจตามบริเวณชายแดนทุรกันดาร ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนที่เรียนของเด็กและเยาวชน อันเนื่องมาจากการให้บริการของรัฐไม่ทั่วถึง และมีปัญหาเรื่องการแตกแยกในอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้เยาวชนบางส่วนขาดโอกาสทางการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้ทหารช่วยก่อสร้างโรงเรียน เพื่อให้ทหารมีส่วนช่วยเหลือประชาชนด้านการศึกษา ตามโอกาสอันควร โดยให้แม่ทัพภาคเป็นแกนนำในการก่อสร้างโรงเรียนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สนับสนุนการก่อสร้างโรงเรียน พระราชทานนามว่า “โรงเรียนร่มเกล้าฯ” นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวน ชายแดน สำหรับชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ในดินแดนทุรกันดารห่างไกลการคมนาคม ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์” อนึ่งพระองค์ยังทรงเล็งเห็นถึงปัญหาของเยาวชนที่ครอบครัวประสบปัญหาเดือดร้อนจากสาธารณภัย ภัยธรรมชาติ จึงทรงพระเมตตารับอุปถัมภ์ ให้กำลังใจแก่เยาวชนที่ขาดแคลนเหล่านี้ อันได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์และโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
การศึกษานอกระบบโรงเรียน
สำหรับการศึกษาของประชาชนชาวไทยที่อยู่นอกระบบโรงเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับประชาชนที่ อยู่ในชนบทเป็นอย่างมาก ทรงริเริ่มตั้ง “ศาลารวมใจ” ตามหมู่บ้านชนบทเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่อ่านหนังสือ โดยพระราชทานหนังสือประเภทต่าง ๆ แก่ห้องสมุด “ศาลารวมใจ” นอกจากนั้นมีพระราชดำริ จัดทำโครงการพระดาบส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙
“อาศรมของพระดาบส” เป็นพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงห่วงใยประชาชนนอกระบบโรงเรียนที่พลาดโอกาส ในการศึกษา เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่ประชาชนที่มีความรักวิชาการ ใฝ่หาความรู้ใส่ตนเองแต่ไม่สามารถหาที่เรียนได้อาจเนื่องจากการขาดแคลนทุน ทรัพย์ จึงมีพระราชดำริให้การศึกษาแก่ประชาชนประเภทนี้ ให้มีลักษณะเดียวกับการศึกษาในสมัยโบราณ ที่ผู้ต้องการหาวิชาต้องดั้นด้นไปหาพระอาจารย์ ซึ่งเป็นพระดาบสมีสำนักอยู่ในป่า แล้วฝากฝังตัวเป็นศิษย์ สำหรับอาศรมของพระดาบสหรือส่วนใหญ่เรียก “โรงเรียนพระดาบส” ใช้สถานที่ของสำนักพระราชวัง ณ ๓๘๔–๓๘๙ ถนนสามเสน รับสมัครผู้เรียนไม่จำกัดเพศ วัย วุฒิ ความรู้หรือฐานะ เปิดสอนครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ นักศึกษาที่เรียนสำเร็จการโรงเรียนพระดาบส มีความรู้ความสามารถประกอบอาชีพได้ตามวิชาที่ต้องการ ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในโรงเรียนพระดาบสมีทั้งตำรวจ ทหาร พลเรือน และทหารผ่านศึกที่ทุพพลภาพ ครูผู้สอนส่วนมากเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อาสาสมัคร โดยถือว่าการสอนวิชาความรู้ให้ศิษย์เป็นวิทยาทาน ไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ประชาชนนอกระบบ โรงเรียนนั้นได้แก่ ในขณะที่พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังต่างจังหวัดทุกภาค เฉลี่ยภาคละ 1 เดือนครึ่ง ระหว่างที่ทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ไต่ถามถึงทุกข์สุข และปัญหาต่างๆ ในการดำรงชีพ แนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้คือ พระราชทานพระราชดำริในลักษณะของการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในพื้นที่ที่ประสบกับ ปัญหานั้นๆ ในขณะเดียวกันก็ใช้พื้นที่นั้นๆ เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและให้ความรู้แก่ประชาชนผู้สนใจทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะทั้งในระบบ นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากพระราชประสงค์ที่ทรงมุ่งหวังพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้สามารถช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ ทรงพิจารณาเห็นว่าการได้เรียนรู้และพบเห็นด้วยประสบการณ์ของตนเองนั้นเป็น วิธีการหนึ่งของการสร้างการเรียนรู้ในการพัฒนาชนบท ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยให้ทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้า ทดลองวิจัยและแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้นๆ และเมื่อค้นพบพิสูจน์ได้ผลแล้วก็จะนำผลที่ได้ไป “พัฒนา” สู่ราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียงจนกระทั่งขยายผลแผ่กระจายวงกว้างออกไปตามลำดับ
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใดก็สามารถค้นหาอ่านทราบโดย สะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเอง ของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครูและที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วยคลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี จึงมีพระราชดำรัสให้ตั้งโครงการสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชนฯ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๑ ซึ่งดำเนินการสร้างหนังสือสารานุกรมฉบับใหม่อีกชุดหนึ่ง มีความมุ่งหมายที่จะนำวิชาการแขนงต่าง ๆ ที่ควรศึกษา ออกเผยแพร่แก่เยาวชนให้แพร่หลายทั่วถึงเพื่อเยาวชนจักได้หาความรู้ช่วยตัว เอง ได้จากการอ่านหนังสือ และเพื่อให้ได้ประโยชน์อันกว้างขวางยิ่งขึ้น ทรงกำหนดหลักการทำคำอธิบายเรื่องต่างๆ แต่ละเรื่องเป็นสามตอนหรือสามระดับสำหรับให้เด็กรุ่นเล็กอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง สำหรับเด็กรุ่นกลางอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง และสำหรับเด็กรุ่นใหญ่รวมถึงผู้ใหญ่สนใจอ่านได้อีกระดับหนึ่ง เพื่ออำนวยโอกาสให้บิดามารดาสามารถใช้หนังสือนั้นเป็นเครื่องมือแนะนำวิชา แก่บุตรธิดาและให้พี่แนะนำวิชาแก่น้องเป็นลำดับกันลงไป นอกจากนั้น เมื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องถึงเรื่องอื่น ๆ ก็ให้อ้างอิงถึงเรื่องนั้น ๆ ด้วยทุกเรื่องไป ด้วยประสงค์จะให้ผู้ศึกษาทราบตระหนักว่าวิชาการแต่ละสาขามีความสัมพันธ์ เกี่ยวเนื่องถึงกัน พึงจะศึกษาให้ครบถ้วนทั่วถึงโดยได้มีการจัดแบ่งวิทยาการของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนออกเป็น ๔ สาขา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ พร้อมกับกำหนดหัวข้อเรื่อง และวิทยากรผู้เขียนเรื่องต่าง ๆ ของแต่ละสาขาวิชา และในปัจจุบันได้มีการจัดพิมพ์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนแล้ว รวม ๒๖ เล่ม
ทุนพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ทรงมองซึ้งถึงปัญหาและแนวทาง ตลอดจนพร้อมที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนับสนุนการศึกษาในทุก ๆ ด้าน ทรงทราบดีว่าเด็กและเยาวชนของไทยมิได้ขาดสติปัญญาที่จะเล่าเรียน แต่ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์ และอีกประการหนึ่งก็คือทรงตระหนักถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมามีบทบาทและอิทธิพลต่อแนวคิด จิตใจ และการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างมาก การจะก้าวให้ทันวิวัฒนาการและความเจริญสมัยใหม่เหล่านี้ ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องส่งคนไปศึกษาและดูงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อนำความรู้มาเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดการพัฒนาในวิทยาการ ต่าง ๆ ของประเทศ พร้อมกับจัดเตรียมความรู้ขั้นพื้นฐาน สำหรับผู้ที่จะเข้ามารองรับความรู้เหล่านั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งกองทุนการศึกษาขั้นหลายทุน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งการให้ทุนแต่ละทุนได้มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป ดังนี้
1.ทุนมูลนิธิ “ภูมิพล”
2.ทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล”
3.ทุนเล่าเรียนหลวง
4.ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
5.ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย
6.ทุนนวฤกษ์
7.ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ในทุกๆ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์จะเสร็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา แม้ พระราชกรณียกิจนี้จะเป็นภาระแก่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์มาก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้คงพิธีพระราชทานปริญญาบัตรไว้ ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชทานแทนพระองค์
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : chaoprayanews
แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้ากับพระราชกรณียกิจที่พ่อหลวงทรงทำให้เรา
ThaiPaymall
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น